
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับเก่าที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2530 ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และขจัดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้อย่างเพียงพอที่จะใช้ในยามชราภาพได้ โดยจากกฎหมายเดิมกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ลูกจ้างไม่สามารถออมเงินสะสมเพิ่มขึ้นได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงได้แก้ไขกฎหมายให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนได้ เพื่อให้ลูกจ้างที่ต้องการออมเงินมากขึ้น สามารถจ่ายเพิ่มเข้ากองทุนได้ โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเข้ากองทุนเพิ่มในอัตราที่เท่ากัน
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับเดิมไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้าง สามารถหยุดหรือเลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดๆที่ร้ายแรง ที่มีผลให้ลูกจ้างไม่สามารถจ่ายเงินสะสม หรือนายจ้างไม่สามารถส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้ตามปกติ ส่งผลให้ลูกจ้างจำเป็นต้องลาออกจากกองทุน ขณะที่นายจ้างบางรายขอยกเลิกกองทุนไปเลย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กฎหมายจึงให้ รมว.คลัง มีอำนาจอนุมัติให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินเข้ากองทุนได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์ร้ายแรงได้ และเมื่อมีกำลังที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุน สามารถจ่ายต่อได้เลยโดยที่ไม่ขาดสมาชิกภาพ
ขณะเดียวกัน ลูกจ้างที่มีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ที่ลาออกจากงาน ถือว่าสิ้นสมาชิกภาพของกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณ โดย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับเดิมกำหนดให้จะต้องนำเงินออกจากกองทุนทั้งหมดในคราวเดียวกัน กฎหมายฉบับใหม่ที่แก้ไขจะกำหนดให้สามารถแสดงเจตนาขอรับเงินออกจากกองทุนเป็นงวดได้ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุ เพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ที่ออกจากงานมีเงินดำรงชีพได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนเพื่อการชราภาพอื่น เพื่อช่วยให้ลูกจ้างมีการออมเพื่อการชราภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการยกเลิกกองทุนที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกอยู่ หรือการถูกให้ออกจากงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องการให้แรงงานได้ออมเงินไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ แต่ที่ผ่านมาเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่กองทุนยกเลิก ผู้จัดการกองทุนจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างทั้งหมดคราวเดียวหรือรับเป็นงวดตามกรณี ส่งผลให้ลูกจ้างไม่มีทางเลือกในกรณีที่ต้องการออมเงินอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ในกฎหมายฉบับใหม่ยังแก้ไขให้ผู้จัดการกองทุน สามารถนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงได้ สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุนไว้ จากเดิมที่การลงทุนหาผลประโยชน์ตอบแทนของกองทุน ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุนไว้ ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนได้เฉพาะนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเท่านั้น ซึ่งนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อย จะส่งผลกระทบต่อเงินออมที่สมาชิกจะมีใช้ในวัยเกษียณอายุ และอาจจะไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก
ส่วนกรณีที่กองทุนบางประเภทมีอุปสรรคจากการบันทึกรายได้ โดยมีหลายนายจ้าง แต่เป็นบริษัทอยู่ในเครือเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการบันทึกรายได้นั้น กฎหมายใหม่จึงได้ปรับปรุงเกี่ยวกับทางเลือกในการบันทึกรายได้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้บันทึกรายได้ในส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนตามส่วนได้ส่วนเสียของลูกจ้าง หรือบันทึกเฉลี่ยตามจำนวนลูกจ้างของนายจ้างรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้กองทุนสามารถเลือกวิธีการบันทึกบัญชีให้สอดคล้องกับลักษณะของกองทุน เพื่อลดภาระในการบันทึกบัญชีและมีการจัดสรรรายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิกแต่ละรายอย่างสมเหตุสมผล
ทั้งนี้ ครม.ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับแก้ไข ส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป.
ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/483355